วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

พยสนสูตร ว่าด้วยโทษของการด่าบริภาษ เพื่อนพรหมจรรย์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดด่าบริภาษ เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย กล่าวโทษพระอริยะ ภิกษุนั้นจะไม่พึงถึงความฉิบหาย ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส
        ความฉิบหาย ๑๐ อย่างเป็นไฉน คือ ภิกษุนั้นไม่
                บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ ๑
                เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว ๑
                สัทธรรมของภิกษุนั้น ย่อมไม่ผ่องแผ้ว ๑
                เป็นผู้เข้าใจว่าตนได้บรรลุในสัทธรรมทั้งหลาย ๑
                เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ๑
                ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง ๑
                ย่อมถูกโรคอย่างหนัก ๑
                ถึงความเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่าน ๑
                เป็นผู้หลงใหลกระทำกาละ ๑ เมื่อ
                ตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดด่าบริภาษ เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย กล่าวโทษพระอริยะ ภิกษุนั้นจะไม่พึงถึงความฉิบหาย ๑๐ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ 
บรรทัดที่ ๓๙๐๔ - ๓๙๑๕. 
หน้าที่  ๑๖๘ - ๑๖๙.

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

กุสินาราสูตร

กุสินาราสูตร

ว่าด้วยภิกษุผู้ประสงค์จะโจทย์ผู้อื่นพึงพิจารณาธรรม ๕ ประการในตน

     สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์เป็นที่นำไปทำพลีกรรม ใกล้กรุงกุสินารา ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า


     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการในตน พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ ประการไว้ในตน แล้วจึงโจทก์ผู้อื่น ธรรม ๕ ประการอันภิกษุพึงพิจารณาในตนเป็นไฉน

      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า
    เราเป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบด้วยกายสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ 
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุมิได้เป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์ มิได้เป็นผู้ประกอบด้วยกายสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องไซร้ จะมีว่าผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า เชิญท่านจงศึกษาความประพฤติทางกายเสียก่อนเถิดจะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้.
     อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบด้วยวจีสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุมิได้เป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ มิได้ประกอบด้วยวจีสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องไซร้ จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า เชิญท่านจงศึกษาความประพฤติทางวาจาเสียก่อนเถิด จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้.
     อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราเข้าไปตั้งเมตตาจิตไม่อาฆาตไว้ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายแล้วหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุไม่เข้าไปตั้งเมตตาจิต ไม่อาฆาตไว้ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายไซร้ จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า เชิญท่านจงเข้าไปตั้งเมตตาจิตไว้ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายเสียก่อนเถิด จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้.
     อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นโจทประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามากทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุไม่เป็นพหูสูต ทรงสุตะสั่งสมสุตะ ไม่เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฐิซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงไซร้ จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า เชิญท่านจงเล่าเรียนคัมภีร์เสียก่อนเถิด จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้
     อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราจำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดีแล้ว จำแนกดีแล้ว ให้เป็นไปดีแล้วโดยพิสดาร วินิจฉัยดีแล้วโดยสูตรโดยอนุพยัญชนะหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุเป็นผู้ไม่จำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดีแล้ว มิได้จำแนกดีแล้ว มิได้ให้เป็นไปดีแล้วโดยพิสดาร มิได้วินิจฉัยด้วยดีโดยสูตรโดยอนุพยัญชนะ ภิกษุนั้นถูกถามว่า ท่านผู้มีอายุ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสแล้วในที่ไหน ดังนี้แก้ไม่ได้ จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า เชิญท่านศึกษาวินัยเสียก่อนเถิด จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น ดังนี้ ธรรม ๕ ประการนี้ อันภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงพิจารณาในตน.

     ธรรม ๕ ประการ อันภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงให้เข้าไปตั้งไว้ในตนเป็นไฉน คือ
จักกล่าวโดยกาลอันควร จักไม่กล่าวโดยกาลอันไม่ควร ๑
จักกล่าวด้วยคำจริง จักไม่กล่าวด้วยคำไม่จริง ๑
จักกล่าวด้วยคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวด้วยคำหยาบ ๑
จักกล่าวด้วยคำอันประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวด้วยคำอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
จักมีเมตตาจิตกล่าว จักไม่เพ่งโทษกล่าว ๑ 
     ธรรม ๕ ประการนี้ อันภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงเข้าไปตั้งไว้ในตน

     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการนี้ในตน พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ในตน แล้วจึงโจทผู้อื่น.


อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต
ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม ๓๘ หน้า ๑๔๓ ข้อ ๔๔

อานันทสังฆเภทสูตร

     ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ 
ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า สังฆเภท สังฆเภท ดังนี้ 
สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล ฯ
     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 
ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม ว่าเป็นธรรม 
ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่า ไม่ใช่ธรรม 
........ 
ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตบัญญัติไว้ 
ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ว่า ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ 
ภิกษุเหล่านั้นย่อมทอดทิ้งกัน 
                  ย่อมแยกจากกัน 
                  ย่อมทำสังฆกรรมแยกกัน 
                  สวดปาติโมกข์แยกจากกัน ด้วยวัตถุ ๑๐ ประการ
นี้ ดูกรอานนท์ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ฯ
     อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน จะประสพผลอะไร พระเจ้าข้า ฯ
     พ. ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้นจะประสพผลอันเผ็ดร้อนซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่ง ฯ
     อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ผลอันเผ็ดร้อนซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่ง คืออะไร พระเจ้าข้า ฯ
     พ. ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้นจะเสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง ฯ
               บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน    ยินดีแล้วในการแตกแยก
               ตั้งอยู่ในอธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย เข้าถึงนรก ตั้งอยู่ใน
               นรกนั้นตลอดกัปหนึ่ง   ย่อมพลาดจากธรรมเป็นแดนเกษม
               จากโยคะ ย่อมเสวยกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง เพราะ
                ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันให้แตกกัน ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

อานันทสังฆสามัคคีสูตร

      ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ 
พระองค์ตรัสว่า สังฆสามัคคี สังฆสามัคคี ดังนี้ 
สงฆ์จะเป็นผู้พร้อมเพรียงกันด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล ฯ

     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 
ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่าไม่ใช่ธรรม 
ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่าเป็นธรรม
................
ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ 
ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตได้บัญญัติไว้ 
ภิกษุเหล่านั้น  ย่อมไม่ทอดทิ้งกัน 
                            ไม่แยกจากกัน 
                            ไม่ทำสังฆกรรมแยกกัน 
                            ไม่สวดปาติโมกข์แยกกัน ด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้ 
ดูกรอานนท์ สงฆ์ย่อมเป็นผู้พร้อมเพรียงกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ฯ

     อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บุคคลผู้สมานสงฆ์ผู้แตกกันแล้วให้พร้อมเพรียงกัน 
จะประสพผลอะไร พระเจ้าข้า ฯ
     พ. ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่ทำสงฆ์ผู้แตกกันแล้วให้พร้อมเพรียงกันนั้นจะประสพบุญอันประเสริฐ ฯ
     อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุญอันประเสริฐคืออะไร พระเจ้าข้า ฯ
     พ. ดูกรอานนท์ บุคคลผู้สมานสงฆ์ผู้แตกกันแล้วให้พร้อมเพรียงกันนั้น
จะบันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดกัปหนึ่ง ฯ

              ความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์ เป็นเหตุให้เกิดความสุข   และ
              บุคคลผู้อนุเคราะห์สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันแล้ว   ผู้ยินดีแล้วใน
              ความพร้อมเพรียงกัน ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่พลาดจากธรรม
              เป็นแดนเกษมจากโยคะ     ย่อมบันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอด
              กัปหนึ่ง เพราะสมานสงฆ์ให้พร้อมเพรียงกัน ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖
อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต